Please update your Flash Player to view content.

     การเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสภาเกษตรกร
     บทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรแห่งชาติฯ ได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่เลขาธิการของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี รวมทั้งจะต้องดำเนินการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุดแรก ซึ่งประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจะได้เป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติโดยตำแหน่ง ภารกิจดังกล่าวมีความสำคัญ และต้องใช้อาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายในการจัดการให้การเลือกตั้งสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ
      ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาเกษตรกร ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 227/2553 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 และคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 330/2553 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 เพื่อรองรับการดำเนินภารกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าว องค์ประกอบคณะกรรมการประกอบด้วย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสิงห์ทอง ชินวรรังสี) เป็นประธานกรรมการ นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และนายทรงพล พนาวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ มีผู้แทนกรมการปกครอง และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดอีกหลายแห่ง รวมทั้งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี ร่วมเป็นกรรมการ และมีสำนักกฎหมายเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ คณะกรรมการเตรียมการฯ ได้จัดทำแผนงาน กำหนดกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องเตรียมการก่อนพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติประกาศใช้บังคับ ได้แก่
      1. การทำหน้าที่ของเลขาธิการฯ และหัวหน้าสำนักงานฯ ได้แก่ การกำหนดโครงสร้าง อัตรากำลัง สถานที่ทำการ และงบประมาณ การจัดจ้างบุคลากร การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน ของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และการประชุมอบรม ให้ความรู้แก่บุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่
      2. การจัดทำหลักเกณฑ์ ด้านกฎหมาย และแบบฟอร์มเอกสารต่างๆ ได้แก่ การกำหนด หลักเกณฑ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกร หลักเกณฑ์ การรับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร หลักเกณฑ์การได้มาซึ่ง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ มาตรา 5(2) และ (3) ชุดแรก การกำหนดแบบฟอร์มเอกสารต่างๆ รวมทั้งการจัดทำคู่มือ การเลือกตั้ง และรับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร และการจัดเตรียมบุคลากร สำหรับชี้แจง หรือตอบข้อซักถาม
      3. การประชาสัมพันธ์ ได้แก่ การจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ ทางสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เอกสารเผยแพร่ และทางอินเตอร์เนต การจัดจ้างดำเนินการ ตามโครงการประชาสัมพันธ์
      4. การประสานงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกร ตามบัญชีครัวเรือนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จัดเตรียมบัญชีรายชื่อเกษตรกร ตามบัญชีครัวเรือนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และผู้มีสิทธิ์รับเลือกตั้ง และการจัดเตรียมสถานที่ บุคลากร และอุปกรณ์การเลือกตั้ง
     นอกจากนี้ คณะกรรมการเตรียมการฯ ได้มอบหมายให้สำนักแผนงาน และโครงการพิเศษ ร่วมกับ สำนักกฎหมาย จัดให้มีการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายน 2553 ที่โรงแรมปริ๊นพาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ในการประชุมสัมมนา ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาท ภารกิจของเกษตร และสหกรณ์จังหวัด ตามร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติฯ ให้เกษตร และสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานในสังกัด กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทราบข้อมูล และมีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจในแนวทาง การดำเนินการจัดตั้ง สภาเกษตรกรแห่งชาติ และจากการประชุมสัมมนาฯ ดังกล่าว ที่ประชุมได้ร่วมเสนอความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ สรุปโดยย่อได้ดังนี้
      1. ประเด็นเกี่ยวกับ วิธีการเลือกตั้ง ผู้เข้าสัมนาส่วนใหญ่เห็นว่า ควรใช้วิธีการเลือกตั้งวิธีลับ โดยการเข้าคูหา อันจะเป็นผลดีต่อผู้เลือกตั้ง ที่มีอิสระในการตัดสินใจ โดยไม่เกรงต่อผลกระทบของอิทธิพลท้องถิ่น และระยะเวลาดำเนินการเลือกตั้ง เสร็จสิ้นในวันเดียว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเลือกตั้ง ของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ขอให้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กำหนดขั้นตอน ให้ชัดเจน โดยจัดทำเป็น คู่มือปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการ และป้องกันปัญหา การถูกร้องเรียน รวมทั้งเห็นควร ประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การดำเนินการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ เห็นควรประสานขอความร่วมมือจากครู และอาจารย์ในพื้นที่ ให้ช่วยเป็นเจ้าหน้าที่ ควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ตลอดจนการอบรมให้ความรู้ แก่เจ้าหน้าที่ ที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งด้วย ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ ประมาณคูหาละ 5 – 7 คน
      2. การประชาสัมพันธ์ เห็นควรให้มีการประชาสัมพันธ์ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด และควรจัดทำ TOR จัดจ้าง ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้รวดเร็ว เพื่อให้มีระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์ พอสมควร ก่อนถึงวันเลือกตั้ง โดยเน้น ประชาสัมพันธ์ ระดับจังหวัดให้มาก โดยประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และจัดแถลงข่าว ให้เกษตรกรได้รับรู้เกี่ยวกับสภาเกษตรกรที่กำลังจะเกิดขึ้น
      3. การบริหารจัดการ ควรจัดทำคำสั่งให้อำนาจเกษตรและสหกรณ์จังหวัด อย่างเหมาะสม เพียงพอแก่การบริหารจัดการ และควรขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย ไม่ควรดำเนินการเอง เพื่อป้องกันข้อขัดแย้ง รวมทั้งต้องจัดทำโครงสร้างหน่วยงานเบื้องต้น เพื่อรองรับการเลือกตั้งก่อน ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผน
      เนื่องจากระยะเวลาในการเตรียมการมีไม่มาก โดยคาดว่าพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติฯ จะสามารถประกาศใช้บังคับได้ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2553 คณะกรรมการเตรียมการฯ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 3 คณะ เพื่อแบ่งแยกให้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมในแต่ละเรื่อง ดังนี้
      1. คณะอนุกรรมการจัดทำร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกฎหมาย และคู่มือปฏิบัติงานตามบทเฉพาะกลางของร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ... ตามคำสั่งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ 1/2553 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างหลักเกณฑ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร
      2. คณะอนุกรรมการจัดทำแผน และกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ตามคำสั่งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ 2/2553 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ ในระดับจังหวัด และระดับชาติ
      3. คณะอนุกรรมการ จัดเตรียมบัญชีรายชื่อเกษตรกร ตามคำสั่งคณะกรรมการเตรียมการ จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ 3/2553 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2553 คณะอนุกรรมการฯ ได้ประสานงานกับ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยได้ร่วมกันพิจารณาถึง ปัญหา และรายละเอียด ในการจัดทำบัญชีรายชื่อเกษตรแล้ว และกรมการปกครองรับจะดำเนินการตรวจสอบ และจัดพิมพ์บัญชีรายชื่อเกษตรกรให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการพิจาณา เพื่อกำหนดรายละเอียด ระยะเวลาดำเนินการ และค่าใช้จ่าย
      4. ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 497/2553 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2553 เพื่อดำเนินการในการ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ประสานงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ให้คำปรึกษา ตอบข้อหารือในการปฏิบัติงาน ติดตามผลการปฏิบัติงาน เสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์



 

กรุณาเลือกภาษา

Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Indonesian Japanese Korean

แผนที่ท่องเที่ยวไทย

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ








หน่วยงานภาครัฐ













พยากรณ์อากาศ